รายงานการศึกษา : นำร่อง ‘Stop Bullying’ หยุดกลั่นแกล้งใน ร.ร.อนุบาลอุบลฯ
รายงานการศึกษา : นำร่อง ‘Stop Bullying’ หยุดกลั่นแกล้งใน ร.ร.อนุบาลอุบลฯ
ปัจจุบันปัญหาการ “กลั่นแกล้ง” กันของนักเรียนในโรงเรียน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความซับซ้อนในปัญหามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระดับประถม และมัธยม ประกอบกับที่มีการศึกษาเมื่อปี 2563 ที่เด็กไทยมีพฤติกรรมการ “บูลลี่” หรือกลั่นแกล้งกันเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น พบว่าเด็กไทยมีพฤติกรรมการบูลลี่ประมาณ 600,000 คน คิดเป็น 40% ของนักเรียนทั้งหมดในปีนั้น
โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี เห็นถึงความสำคัญของปัญหา จึงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดฐานกิจกรรม “Stop Bullying” ขึ้นในค่าย “English Camp” ของนักเรียนประถมโครงการ English Program จำนวน 400 คน ณ สวนสัตว์อุบลราชธานี เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้นักเรียนตระหนักรู้ และจัดการอารมณ์ของตนเอง เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ถูกกลั่นแกล้ง รวมทั้ง อธิบายวิธีการจัดการเมื่อถูกรังแก และจำแนกความแตกต่างระหว่างการรังแกกัน ทะเลาะกัน และหยอกล้อกันได้
นอกจากนี้ ยังมีฐานกิจกรรม “เอาตัวรอดให้ปลอดภัย” ที่สอนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ให้นักเรียนชั้น ป.4-6 รวมทั้ง ทักษะช่วยเหลือตนเอง หรือผู้สำลักอาหาร และการแจ้งเหตุผ่าน 1669 ให้นักเรียนชั้น ป.1-3 โดยคณาจารย์ และนักศึกษากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นวิทยากรอบรมในลักษณะ Active Learning
ดร.เสมอ สร้อยคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอุบลฯ กล่าวว่า เห็นแนวโน้มปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เห็นว่าต้องทำเชิงรุกในลักษณะป้องกันปัญหามากกว่าแก้ไข ในฐานะโรงเรียนประถมศึกษาประจำจังหวัด ผู้ปกครอง หรือครอบครัว อาจคาดหวังจนเป็นความกดดันลูกหลานในการเรียน รวมทั้ง ความเหลื่อมล้ำ และซับซ้อนของสังคมปัจจุบัน หากไม่มีวิธีป้องกันที่ดี นับว่ามีความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าวพอสมควร นอกจากนี้ การดูแลตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนให้ความสำคัญ กิจกรรมครั้งนี้เป็นการสร้างทักษะ และรับมือปัญหาเชิงรุก
จึงมีแผนดำเนินการเรื่อง “Stop Bullying” ทั่วทั้งโรงเรียนในปีการศึกษา 2566 ทั้งเก็บสถิติ ฝึกอบรมครูที่เป็นผู้ใกล้ชิดเหตุการณ์ที่สุด ให้มีทักษะรับมือปัญหาการกลั่นแกล้ง การให้ความรู้ และจัดกิจกรรมแก่นักเรียน การสร้างวัฒนธรรมไม่ยอมรับการกลั่นแกล้งในโรงเรียน รวมทั้ง การสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองในการเสริมสร้างวัฒนธรรมนี้จากครอบครัว
ส่วนทักษะ “การเอาตัวรอดให้ปลอดภัย” ถูกนำมาวางแผนเพื่อบูรณาการกับการเรียนในวิชาลูกเสือ-ยุวกาชาด ของนักเรียนทุกระดับอย่างเป็นระบบ ซึ่งความสำเร็จต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยทั้งโรงเรียนที่กำหนดนโยบาย และเป้าหมายที่ชัดเจน ฝั่งผู้ปกครองที่ต้องทำความเข้าใจ และให้ความร่วมมือ
ปิดท้ายที่ นายศุภโชค วีระกุล นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี เสริมว่า สมาคมฯ มีหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ให้บรรลุตามเป้าหมาย การจัดกิจกรรมทั้ง 2 ฐาน เกิดจากความร่วมมือของผู้ปกครองที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ ที่บูรณาการงานของหน่วยงานกับโรงเรียน ปีการศึกษาถัดไป สมาคมฯ มีแผนเชิงรุกจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิต และการเป็น Smart Kids ร่วมกับโรงเรียน